วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

อัตราค่าบริการถ่ายภาพ....ที่คุณต้องการ

ประกาศ.....! ลูกค้าฟังทางนี้ อย่าบอกว่าราคาแพง ถ้ายังไม่เห็นพอร์ตงาน อย่าบอกว่าสวยเกินงาน เพราะ budget ไม่ถึง อย่าปล่อยให้ช่างภาพ(คนนี้)รอคอยด้วยใจคนึง อย่าหลอกให้เราซึ้งคิดว่าใช้แล้วจากไป....

ลูกค้ามีหลายประเภทมากมายครับ ทั้งมาหลอกถามราคา สนใจตัวงาน หรือกระทั่งคลิกไปเจอเลยลองโทรเล่นๆ วันนี้ผมจะมาชี้แจงเรื่องอัตราค่าบริการถ่ายภาพให้ฟังกันดีกว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าหลายท่านเลยทีเดียว เพราะไม่ใช่ว่าการถ่ายภาพทุกประเภทจะมีราคาเหมือนกันหมดซะที่ไหน เคยมีลูกค้าบางคนบอกว่าทำไมราคามีหลายเรตจัง ผมก็อยากถามเหมือนกันว่า พี่สั่งกะเพราไก่ไข่ดาว กับข้าวผัดรวมมิตร หรือสุกี้ทะเล ราคาเท่ากันรึเปล่าครับ อ้าวทำไมไม่เท่าล่ะ ทั้งที่ทำจากคนๆเดียวกัน(อันนี้แค่คิดนะครับ) หลักการก็เป็นเช่นเดียวกันแหละครับ งานแต่ละสไตล์แต่ละแบบก็มีความละเอียด มีความประณีต รูปแบบความยากง่ายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ที่ว่าตัวคุณน่ะแหละครับ เหมาะกับเรตราคาไหน ทั้งนี้ผมจะมาแนะนำชี้แจงให้ฟังในเรื่องของการเลือกช่างภาพถ่ายภาพนั้นต้องดูที่อะไรดีกว่าครับ

1. วางคอนเซ็ปต์งาน คุณต้องรู้ก่อนสิว่าจะถ่ายอะไร รูปแบบไหนจริงป่ะ หรือคุณจะเซิร์ชหาช่างภาพใน google ครั้นเห็นรายชื่อเรียงกันเป็นตับ รีบยกโทรศัพท์ไปถามว่า สวัสดีครับ ผมควรถ่ายอะไรดีครับก็คงไม่ใช่! เพราะฉะนั้นกำหนดคอนเซ็ปต์งานให้ชัดก่อนว่าจะถ่ายอะไรบ้าง ใช้รูปประมาณไหน แล้วก็จะเอาไปใช้งานอะไร เพราะถ้าเกิดช่างภาพคนนั้นอุปกรณ์ Canon 7D แต่จะโทรไปให้ถ่ายรูปลงเว็บ แล้วขอเรตราคาคอมแพคก็คงไม่ไหว หรือกลับกันจะเอางานไปแปะบนตึกแต่กลับโค้ดราคาแพงคุยเรียบร้อยวันจริงใช้แค่ Canon 400D ก็คงเกินไป เพราะฉะนั้นอย่าลืมนะครับอันนี้สำคัญ

2. หามือปืน มือปืนในที่นี้ไม่ใช่มือปืนจ้างไปยิงเมียน้อยใครที่ไหนนะครับ แต่ผมเปรียบเทียบช่างภาพอิสระหรือที่เรียกอีกชื่อว่าฟรีแลนซ์ตะหาก (Freelance Photographer) เซิร์ชหาเอาเลยครับอยากได้คนไหนที่คุณคิดว่าเหมาะสมกับงานของคุณ ดูงานของเค้าให้หมดให้ละเอียด แล้วก็พยายามหาพอร์ตงานของเค้าที่คิดว่าตรงกับคุณที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าช่างภาพที่ไม่ได้โชว์รูปงานที่ตรงกับคุณต้องการจะไม่เคยถ่ายหรือถ่ายสินค้าของคุณไม่ได้ อันนี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งครับว่า งานต่างๆ จะให้มันเป๊ะๆ กับที่เราต้องการก็คงลำบาก ให้ดูแนวทางดีกว่าครับ เช่น ถ่ายโปรดักส์ก็ดูงานโปรดักส์เค้าว่าคัดแสงดีมั้ย ไล่โทนแสงสวยรึเปล่า หรือถ่ายคน ถ่ายportrait ก็ดูว่างานถ่ายคนของเค้าเป็นแบบไหน เราชอบหรือเปล่า ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งพอควรครับ บอกไม่ได้ครับ(ไม่ได้กั๊ก แต่เป็นเรื่องรสนิยมล้วนๆ นะฮ้าฟฟฟ)

3. อัตราค่าบริการถ่ายภาพ อันนี้เป็นสิ่งที่คนไทยแทบจะเรียกได้ว่า เป็นปัจจัยหลักกว่าข้อแรกเลยก็ได้ครับ เพราะงานที่ผมผ่านมาเห็นจะเปรียบเทียบเรื่องราคาก่อนเลยอันดับแรก งานค่อยดูทีหลัง =*= (เป็นทฤษฎีที่แปลกแต่จริงในเมืองไทยครับ) ซึ่งในเรื่องนี้ต้องย้ำเลยว่า หาช่างภาพในราคาที่เราคิดว่าเหมาะสม แล้วคำว่าเหมาะสมจะต้องเปรียบเทียบกับอะไร ผมคงไม่มีสมการอะไรจะมายกเปรียบเทียบเป็นบัญญัติไตรยางค์ได้หรอกครับ แต่เกณฑ์คร่าวๆ ก็ต้องดูก่อนว่างบประมาณของคุณมีเท่าไหร่ แล้วถึงจะประเมินได้ถูก ซึ่งเรตช่างภาพบางคนจะคิดเป็นคิว คือ 8 ชม.ต่องาน(ส่วนใหญ่เป็นงานสตูดิโอ) หรือบางคนจะคิดเป็นงานก็คือเหมาทั้งโปรเจคท์ต่อวันไปเลย และก็คิดทีละครึ่งวันซึ่งแบบหลังนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานพวกรับปริญญา กับงานแต่งงานครับ

4. กำหนดจ่ายตังค์ (อันนี้แถมครับ จากใจสมาคมช่างภาพทั้งหลาย) เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าทั้งหลายมักจะลืมพูดถึงกันว่าจะให้เงินเมื่อเสร็จงานทันที หรือว่าหลังจากจบงานนั้นกี่วัน ไอ้เราก็นิสัยคนไทยก็ไม่ค่อยกล้าพูดเรื่องนี้ด้วยสิ ครั้นพอพูดกับลูกค้าบางคนก็มองว่าเรางกตังค์ ทำเพื่อเงิน (อ่ะถูก! ใครจะทำฟรีครับคุณพี่) แต่อยากฝากลูกค้าทั้งหลายนิดนึงครับว่า ยังไงช่วยบอกกำหนดจ่ายเงินหน่อยนะครับ ไม่ใช่ให้เรารอเก้อชะเง้อคอแล้วเอียงคอรออีกจนเสียศูนย์กันเลยทีเดียว หรือชอบเงียบจนเราต้องถามเอง บางงานถ่ายเสร็จนึกว่าจะได้หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ก็ถือว่าช้าพอควรละ ที่ไหนได้เล่นปาเข้าไป 2 -3 เดือนทีเดียวครับ เหนื่อยใจไม่น้อย แต่อย่างหลังเข้าใจครับว่าระบบบริษัทใหญ่มักเป็นแบบนี้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นรูปแบบวิธีคร่าวๆ ในการหาช่างภาพแล้วก็ผมคงไม่สามารถบอกอัตราค่าบริการถ่ายภาพให้ฟังได้ เพราะช่างภาพแต่ละคนก็มีเรตราคาไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่ารักใครชอบใครก็เลือกเบอร์นั้นละกันครับ อ้าวแล้วนี่รอช้าทำไมครับ โทรมาหาเราสิครับ 087-100-1059!

1 ความคิดเห็น: